Immanuel Kant



อิมมานูเอิล คานท์ (Immanuel Kant)
ประวัติของคานท์
อิมมานูเอิล คานท์ (Immanuel Kant) (22 เมษายน ค.ศ. พ.ศ. 2267 - 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2347) เป็นนักปรัชญาชาวเยอรมัน จากแคว้นปรัสเซีย ได้รับการยกย่องโดยทั่วไปว่า เป็นนักคิดที่มีอิทธิพลมากที่สุดของยุโรป และเป็นนักปรัชญาคนสำคัญคนสุดท้ายของยุคแสงสว่าง เขาสร้างผลกระทบที่สำคัญไปถึงนักปรัชญาสายโรแมนติกและสายจิตนิยม ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 งานของเขาเป็นจุดเริ่มของ เฮเกิล คานท์เป็นที่รู้จักเนื่องจากแนวคิดของเขา ที่เรียกว่าจิตนิยมอุตรวิสัย (transcendental idealism) ที่กล่าวว่ามนุษย์ใช้แนวคิดบางอย่างที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (innate idea) ในการรับรู้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวในโลก เรารับรู้โลกโดยผ่านทางประสาทสัมผัสประกอบกับมโนภาพที่ติดตัวมานี้ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถล่วงรู้หรือเข้าใจใน "สรรพสิ่งที่แท้" ได้ ความรู้ต่อสรรพสิ่งที่เรามีนั้นจึงเป็นได้แค่เพียงภาพปรากฏ ที่เรารับรู้ได้ผ่านทางประสาทสัมผัสเท่านั้น เขาเป็นบิดาแห่งแนวคิดเรื่องสหประชาชาติ ดังที่ปรากฏในความเรียงว่าด้วยเรื่องสันติภาพถาวรของเขาได้เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศขึ้นเพื่อยุติความขัดแย้งและความโหดร้ายของสงคราม กระทั่งสันนิบาตชาติและตามด้วยสหประชาชาติได้เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน 
เหตุผลนิยมของคานท์
เหตุผลนิยมของคานท์ (Rigorist) หมายถึงลัทธิที่ยึดมั่นในคุณธรรมหรือเหตุผลอย่างเคร่งครัดเคร่ง ในหนังสือบางเล่มใช้คำว่า Moral Purism หรือ Formal Ethics ลัทธิเหตุผลนิยมนี้ตรงข้ามกับลัทธิสุขนิยม (Hedonism)
สุขนิยมจะเน้นความสุขอันเกิดจากประสาทสัมผัส ส่วนเหตุผลนั้นจะตรงข้ามคือเน้นเหตุผลเป็นหลัก นักปรัชญาบางท่านให้นิยามของสุขนิยมว่าเป็นทฤษฎี ความเพลิดเพลินเพื่อความเพลิดเพลินและนิยามเหตุผลนิยมว่าเป็นทฤษฎี หน้าที่เพื่อหน้าที่
สำหรับเหตุผลนิยมของคานท์ คานท์มีความคิดว่า หลักศีลธรรมนั้นสามารถรู้ได้เอง เป็นสิ่งที่มีมาก่อนแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นมาภายหลังโดยอาศัยประสบการณ์ และเป็นแนวคิดที่มีประจักษ์พยานในตัวเอง ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกับจริยศาสตร์ของพุทธศาสนาที่ว่า ตนนั่นแหละเป็นพยานแห่งตนว่าตนได้ทำดีหรือชั่วนั่นคือ หลักจริยธรรมนั้น เราจะต้องถือเป็นข้อเท็จจริงแห่งเหตุผลอันบริสุทธิ์ ที่เรามีความสำนึกมาแต่เริ่มแรก และเป็นสิ่งแน่นอนอยู่เหนือความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น
จริยศาสตร์แนวคานท์ 
คานท์กล่าวว่า จริยศาสตร์ คือ ความนึกในจริยธรรมหรือความสำนึกถึงความผูกพันทางศีลธรรมอันชวนให้มนุษย์ประพฤติชอบต่อกันเราทุกคนมีจริยพันธะทางใจในอันที่จะต้องปฏิบัติตามธรรมะ เพราะว่าเรามีความสำนึกในศีลธรรมอันเป็นข้อเท็จจริงอันบริสุทธิ์ จริยะพันธะนี้เกิดขึ้นมาเอง โดยที่ไม่ต้องได้รับการกระตุ้น เป็นกฎที่ไม่มีผู้ใดกำหนดขึ้น แต่เป็นกฎธรรมชาติซึ่งต่างจากกิเลสตัณหา หรือความใคร่ความอยาก จริยะพันธะเป็นสิ่งที่ลึกลับ ซ่อนเร้น และจริงจังยิ่งกว่าประสบการณ์ต่าง ๆ ดังนั้นจึงสามารถแสดงออกมาในด้านคุณธรรมของตนเอง โดยอาศัยหลักศีลธรรมเท่านั้นเป็นกฎในการอธิบาย 
เจตนาดี (Good Will) : สิ่งดีอย่างไม่มีเงื่อนไข 
คานท์มีความคิดว่า เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเข้าใจทุกอย่างในโลกนี้และนอกโลกที่เป็นความดีซึ่งปราศจากเงื่อนไข นอกจากเจตนาดีถึงแม้ว่าคานท์จะเชื่อว่ามีแต่เจตนาดีเท่านั้นที่ดีอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่คานท์ก็มีความคิดว่าการอ้างเหตุผลเพื่อสนับสนุนความเชื่อนี้ก็เป็นสิ่งจำเป็น ค้านเห็นว่า การสร้างเหตุผลมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การสร้างเจตนาที่ดีในตัวเองเท่านั้น 
กฎศีลธรรม
กฎศีลธรรม (Moral law) หมายถึง ความเป็นจริงของเหตุผลปฏิบัติ (practical reason) ที่มีอยู่ในบุคคลผู้มีเหตุผลซึ่งคานท์ได้พยายามสร้างกฎศีลธรรมขึ้นโดยได้วางหลักสำคัญไว้ 3 ประการ ดังนี้
                1. จงทำเฉพาะสิ่งที่เมื่อท่านทำแล้วเป็นกฎสากล หมายความว่า สิ่งที่ถูกนั้นคือสิ่งที่เป็นสากล และจงทำสิ่งที่คนอื่นอาจทำตามได้โดยไม่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม 
                2. ทำเหมือนกับว่าได้ปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ในฐานะเป็นจุดมุ่งหมายไม่ใช่เป็นวิถีทาง คือ จงปฏิบัติต่อคนอื่นเช่นเดียวกับที่เราอยากให้เขาปฏิบัติต่อตัวเรา และอย่าทำให้คนอื่นเป็นเครื่องมือ แต่ให้เราคำนึงถึงจุดมุ่งหมายร่วมกัน 
                3. ทำเหมือนกับว่าเราเป็นส่วนหนึ่งแห่งอาณาจักรแห่งจุดมุ่งหมาย คือ ให้ปฏิบัติต่อตนเองและคนอื่นในฐานะที่เป็นบุคคลผู้มีคุณค่าภายในเสมอกัน จงประพฤติตนในฐานะเป็นสมาชิกของประชาคมที่มีอุดมคติ ซึ่งทุกคนในประชาคมนี้เป็นทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองซึ่งจะบ่งชี้ถึงความเท่าเทียมกันของทุกคนในสังคมรวมทั้งกำหนดให้เราต้องยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนมีอำนาจที่จะเลือกและตัดสินใจเท่าเทียมกันรวมถึงการตัดสินใจทางศีลธรรมเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกต้องสำหรับทุกคน 

คานท์มองว่ามนุษย์จะเป็นอิสระก็ต่อเมื่อมนุษย์ใช้เหตุผลซึ่งต่อต้านแรงโน้ม และถ้าเมื่อใดที่มนุษย์ปฏิบัติตนตามแรงโน้มมนุษย์ก็จะไม่มีอิสระ กฎศีลธรรมหรือหน้าที่มีคุณค่าที่แตกต่างจากกฎความรอบคอบ เพราะว่ากฎศีลธรรมมาจากเหตุผลภายในที่ปราศจากเงื่อนไข ส่วนกฎความรอบคอบมาจากปัจจัยภายนอกคือ ประสบการณ์ หน้าที่เป็นตัวกำหนดคุณค่าทางศีลธรรม หากว่าเราปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้วถือว่าเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุด เป็นที่หน้าสังเกตว่าการทำความดีหรือการปฏิบัติตามศีลธรรมนั้น ไม่ได้นำเราไปสู่ความสุขเสมอ แต่เราก็จำเป็นต้องทำความดีเพราะว่าสิ่งนั้นเป็นความดี และเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องกระทำไม่ว่าเราจะได้รับความสุขหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นความสุขจึงไม่ใช่แรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเรา แต่เราปฏิบัติหน้าที่เพื่อหน้าที่ เราไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บุคคลสำคัญ

England

America