Voltaire
วอลแตร์ (Voltaire, ค.ศ. 1694-1778)
ประวัติ
ฟร็องซัว-มารี อารูเอ (ฝรั่งเศส: François-Marie Arouet) หรือเป็นที่รู้จักกันในนามปากกาว่า วอลแตร์ (ฝรั่งเศส: Voltaire) เป็นปราชญ์, นักเขียน และนักประวัติศาสตร์ในยุคเรืองปัญญาของฝรั่งเศส
เขาเป็นผู้โจมตีการจัดตั้งศาสนจักรคาทอลิกในฝรั่งเศส
และยังสนับสนุนเสรีภาพทางศาสนา, เสรีภาพในการพูด
และยังผลักดันให้มีการแบ่งแยกศาสนจักรออกจากรัฐ
วอลแตร์
เป็นนักปรัชญาเหตุผลนิยมชาวฝรั่งเศส ผลงานที่สร้างชื่อให้วอลแตร์นั้นคือ
จดหมายปรัชญา (Les Lettres
philosophiques หรือ Lettres anglaises) เนื้อหาเล่าถึงสังคมอังกฤษที่เต็มไปด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนา
ความสมดุลของอำนาจทางการเมือง สภาพปลอดอภิสิทธิในที่ดิน ความเสมอภาคในการเสียภาษี
ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนตรงกันข้ามกับสภาวะที่เป็นอยู่ในฝรั่งเศสขณะนั้น
โดยที่วอลแตร์ได้สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการเอารัดเอาเปรียบประชาชนของระบอบศักดินาเอาไว้บางตอนว่า
เจ้าและพระเป็นคนส่วนน้อยแต่เป็นผู้ชุบมือเปิบ สามัญชนอันเป็นคนจำนวนมากที่สุด
มีคุณธรรมที่สุด และควรแก่การเคารพยกย่องที่สุด แต่ไร้เกียรติ เป็นต้น
เขาชักชวนให้ประชาชนใช้หลักเหตุผลในการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ
ที่เกิดขึ้นในสังคมสมัยนั้น
วอลแตร์จึงเป็นนักปรัชญาอีกผู้หนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก
จากแนวคิดดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเรียกร้องสิทธิของพลเมืองและการปฏิวัติตามมาในปี
ค.ศ. 1789
วอลแตร์เสียชีวิตไปในวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ.
1778 ก่อนการปฏิวัติใหญ่เพียง 1 ปี
ขณะที่มีอายุได้ 84 ปี อัฐิของเขาถูกนำไปบรรจุที่มหาวิหาร Panthéon (สถานที่แห่งเดียวกันกับสถานที่เก็บศพของ
Jean Jacques Rousseau) ในฐานะผู้ที่ประกอบคุณอนันต์ให้แก่ประเทศฝรั่งเศส
นอกจากการปฏิวัติกรรมกรในรัสเซียและการปฏิวัติชาวนาในจีนแล้ว
ผู้คนมักจะย้อนกล่าวถึงการปฏิวัติก่อนหน้านั้น
ซึ่งโด่งดังระดับโลกและสร้างแรงบันดาลใจสำหรับผู้ที่ไม่ยอมดำรงชีวิตแบบสวะลอยน้ำได้มาก
นั่นคือการปฏิวัติในฝรั่งเศส และนักคิดนักเขียนที่คู่มากับการปฏิวัติในครั้งนั้นก็คือ
ฟรังซัวร์-มารี อาคัวร์ ที่ผู้คนรู้จักกันในนามแฝงหรือนามปากกาของเขา-วอลแตร์
วอลแตร์คือคนระดับเดียวกับมองเตสกิเออ
จัง-จาคส์ รุสโซ จอห์น ล็อค หรือโธมัส ฮอบส์ ที่เราจะทยอยทำความรู้จักกันไป
วอลแตร์ไม่ใช่คนนอกของสังคมฝรั่งเศสในยุคก่อนเจ้าล่มสลาย
แต่เป็นเนื้อในของระบอบเจ้าเช่นกัน ครอบครัวของเขามีพ่อเป็นนักกฎหมายใหญ่ และเป็นนักกฎหมายชนิดที่ยอมรับความอยุติธรรมในขณะนั้นอย่างหน้าชื่นตาบาน
เรียกได้อีกอย่างว่าเป็นไพร่ที่ติดสันดานไพร่จนคุ้นชิน ใครจะมาปลดแอกปลดโซ่ตรวนก็เอะอะว่าเขามาสร้างปัญหาให้
จึงเป็นไพร่ที่กอดตีนเจ้าไว้อย่างแน่นหนา และเรียกสภาพอันน่าอเนจอนาถนั้นว่าความมั่นคง
แต่วอลแตร์แตกต่างจากพ่อ พ่อส่งไปเรียนกฎหมายที่กรุงปารีส
แกก็แอบเขียนหนังสือทั้งวันทั้งคืนและหลอกพ่อว่ากำลังศึกษาวิชากฎหมาย วันหนึ่งพ่อจับได้
โกรธจนไม่รู้ว่าพูดอย่างไร ได้แต่ส่งตัวไปเรียนกฎหมายในเขตชนบทห่างไกลอารยธรรม
แกก็ยังอุตส่าห์ไปหลังขดหลังแข็งเขียนหนังสืออยู่ที่นั่น
พ่อรู้เข้าอีกก็โกรธอีก
คราวนี้ใช้เส้นสายส่งตัวไปเป็นเลขานุการอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำเนเธอร์แลนด์
ทุกอย่างทำท่าว่าจะเข้าที่
วอลแตร์นักฝันก็ไปตกหลุมรักสาวสวยชาวฝรั่งเศสที่ย้ายไปพำนักอยู่ที่นั่น
จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว
พ่อก็เลยสั่งให้เลิกกันและคุมตัวกลับมาอยู่ในฝรั่งเศสเหมือนเดิม
แต่พ่อก็ราข้อไปมาก เริ่มยอมรับกับตัวเองเงียบๆ ว่าแรงผลักดันในตัวลูกชายในอาชีพนักเขียนมันรุนแรงจนเกินกำลังของตน
วอลแตร์ก็เลยก้มหน้าก้มตาผลิตงานเขียนและเขียนมันทุกแนวอย่างขยันขันแข็งเหลือที่จะกล่าว
ตลอดชีวิตเขาเขียนหนังสือที่ได้รับการพิมพ์ถึง 2,000 เล่ม จดหมายที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการปฏิวัติและปฏิรูปสังคมอีกกว่า
2,000 ฉบับ ยังไม่นับรวมงานย่อยๆ
ในรูปแผ่นพับใบปลิวอีกมากมายจนเหลือจะคณานับ เรียกว่าเป็นงานเขียนตลอดชีวิตของเขา
ไม่ว่าจะยากดีมีจน อยู่สบายๆ ที่บ้านหรือถูกจองจำ หรือแม้ถูกเนรเทศไปจากฝรั่งเศส
เขาก็ไม่เคยหยุดเขียนหนังสือ
งานของวอลแตร์ไม่ใช่การสื่อสารการเมืองทั้งหมด
หรือไม่ใช่โดยตรงเสมอไป
บางครั้งซ่อนไว้ในรูปงานวิพากษ์สังคมและแม้กระทั่งข้อเขียนเชิงวิทยาศาสตร์
เขาใช้ทักษะอย่างสูงในการอธิบายแนวคิดยุ่งยากสำหรับมนุษย์ทั่วไปให้กลายเป็นเรื่องที่ย่อยง่าย
ใกล้ตัว และบางครั้งก็สนุกสนานรื่นเริงด้วย งานเขียนบางเรื่องของวอลแตร์จึงออกมาเป็นนวนิยาย
บทละคร บทกวี และอื่นๆ สุดแต่ว่ากลวิธีใดจะเหมาะสมแก่การสื่อสารในเรื่องนั้นๆ
หรือในห้วงอารมณ์นั้นๆ ของคนเขียน
งานเขียนเหล่านี้แหละที่กลายมาเป็นเชื้อเพลิงแห่งการปฏิวัติ
ขบวนการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งนั้นโชคดีตรงที่ว่า ชนชั้นปกครองที่ประกอบด้วยเจ้า
ศักดินา และอำมาตย์ก็เลวเสียจริงๆ
เสวยสุขกันอย่างหน้าด้านท่ามกลางความลำบากเดือดร้อนของชาวฝรั่งเศส
วิถีชีวิตอันหรูหราของคนชั้นบนไม่ได้ถูกซ่อนเร้นอย่างแนบเนียนเหมือนในบางสังคมเลย
หรือแม้แต่ความพยายามจะซ่อนเร้นก็ไม่มี ว่าไปแล้วก็ต้องชี้ว่าความประพฤติของชนชั้นนำในฝรั่งเศสยุคนั้นกลายเป็นบทเรียนของเจ้า
ศักดินา และอำมาตย์ยุคหลังๆ ความซับซ้อนของสังคมมีมากขึ้น เผด็จการซ่อนรูปขึ้น
การปฏิวัติก็ยากลำบากขึ้น
แนวคิดใหญ่ของวอลแตร์ตั้งอยู่บนฐานของเสรีภาพพลเมือง
(civil
liberties) เขาถือว่าคนเกิดมาอย่างเสรีและมีเสรีภาพเป็นอาภรณ์ประดับตัว
รัฐหรือรัฐบาลที่มีอำนาจควบคุมมนุษย์และสังคมเกิดขึ้นในภายหลัง
กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ในการจัดระเบียบสังคมก็มาทีหลัง แม้กระทั่งสิทธิของพระ(คริสต์)
ในการชี้นำความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนาก็มาทีหลัง
งานเขียนของวอลแตร์จึงเน้นเสรีภาพอันสมบูรณ์ทั้งในทางการเมือง สังคม และศาสนา
ต่อมาเพิ่มเสรีภาพทางเศรษฐกิจเข้าไปด้วย สรุปว่าเขาไม่มีข้อยกเว้นใดๆ
ในเรื่องเสรีภาพเลย
เรื่องนี้สำคัญนัก
เพราะพวกเราบางคนเรียกร้องให้มีเสรีภาพอันสมบูรณ์ในทางการเมือง
แต่เราลืมเสรีภาพในรูปแบบอื่นๆ อย่างเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เราก็เรียกร้องประชาธิปไตยด้วยแนวคิดที่แคบเกินไป
แถมบางครั้งยังเรียกร้องประชาธิปไตยแต่กลับใช้วิถีของเผด็จการในองค์กรหรือวงศ์วานของตนเอง
เหมือนไล่ทรราชเดิมด้วยการสถาปนาระบอบทรราชใหม่
จนมวลชนต้องออกมาขับไล่กันอีกอย่างไม่รู้จบ
วอลแตร์มีชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ เพราะพื้นฐานจิตใจที่เป็นกบฏทางสังคม
และท้าดวลกับศัตรูที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเองมาก
เมื่อเขาเขียนหนังสือโจมตีพฤติกรรมของศักดินาหนุ่มรายหนึ่งคือ เชอร์วาลิเย่ เดอ
โคฮัน เขาก็โดนลงโทษอย่างหนักโดยพระบรมราชโองการโดยตรงจากกษัตริย์หลุยส์ที่ 15
ส่งตัวไปยังคุกบาสติลล์โดยไม่ต้องไต่สวนมูลความใดๆ ทั้งนั้น
ต่อมาถูกเนรเทศออกไปอยู่อังกฤษหลายปีอย่างไม่ยุติธรรมเช่นเดียวกัน
เพราะศักดินาและอำมาตย์สมัยนั้นสั่งกษัตริย์ได้ด้วยเงิน ด้วยเงินที่หนาพอก็อาจ “ซื้อ” พระบรมราชโองการเพื่อเล่นงานศัตรูของตัวเองได้เสมอ
อย่างกรณีโคฮันเล่นงานวอลแตร์นี่เอง
ซึ่งก็นับเป็นเคราะห์ดี
เพราะนับตั้งแต่เหตุการณ์นั้นเป็นต้นมา
วอลแตร์ก็มั่นคงตลอดชีวิตในแนวความคิดปฏิวัติการเมืองและปฏิรูปสังคม
และใช้ปลายปากกาตนเองเพื่อการนี้อย่างไม่ไหวหวั่น เขาได้อะไรดีๆ
มามากระหว่างถูกเนรเทศไปอยู่ที่เกาะอังกฤษ อย่างการค้นพบ วิลเลี่ยม เช็คสเปียร์
ก่อนที่คนส่วนใหญ่ในยุโรปจะรู้จักและตระหนักในความยิ่งใหญ่
และลอกเลียนกลวิธีของเช็คสเปียร์ในการสื่อสารกับสังคมด้วยความบันเทิงเริงรมย์แต่แทรกปรัชญาที่ลึกซึ้งและมีอิทธิพลสูง
แต่ความรู้ที่สำคัญที่สุดคืออังกฤษในขณะนั้นมีระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญหรือ
Constitutional
Monarchy แล้ว
ในขณะที่ฝรั่งเศสยังงมโข่งอยู่กับระบอบกษัตริย์มีอำนาจสูงสุดและชักใยมันทุกอย่างที่เรียกว่า
สมบูรณาญาสิทธิราช
จนความชั่วร้ายของระบอบเผด็จการแอบอ้างอำนาจเทวดาหรือเทวสิทธิ์มันแสดงตัวออกมาชัดเจนและกลายเป็นเงื่อนไขแห่งความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่ตามมา
น่าสังเกตว่าชีวิตของวอลแตร์มีปัญหากับผู้มีอำนาจรัฐเฉพาะในช่วงแรกที่ติดคุกและถูกเนรเทศเท่านั้น
ช่วงหลังของชีวิตเขาพยายามหลบเลี่ยงไม่ให้มีปัญหาใดๆ กับทางการ
ชีวิตของเขากับภรรยาใหม่ ซึ่งเป็นปัญญาชนคู่เคียงกับสามีและสะสมหนังสือในครอบครองถึง
21,000 เล่ม มากมายเหลือหลายในมาตรฐานของยุคนั้น
เป็นชีวิตของวิชาการและการศึกษาโดยแท้ ทั้งสองคนศึกษาร่วมกันทุกขั้นตอน
แม้กระทั่งการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ทำให้วอลแตร์มีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ
จนถึงขั้นเข้าหูเข้าตากษัตริย์และคนสำคัญในยุคนั้น จนได้รับเชิญเข้าวังอยู่บ่อยครั้ง
ทำท่าจะกลายเป็นอำมาตย์เอา
จุดเปลี่ยน (อีกครั้ง)
ของวอลแตร์เกิดจากความอยุติธรรมของระบอบการปกครองในยุคนั้น โดยเฉพาะใน “ตุลาการภิวัตน์”
เขาติดตามคดีความบางเรื่องด้วยความสนใจใคร่ครวญ
ในที่สุดก็ตัดสินใจกระโดดเข้าช่วยในบางคดี บทบาทของเขาในฐานะผู้รู้และปราชญ์ทางสังคมทำให้เขาทำงานนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยให้หลายคดีเกิดการยกเลิกหรือกลับคำพิพากษา
จนเป็นที่เขม่นของกษัตริย์กับเครือข่ายของกษัตริย์ในยุคนั้น
เราขยายความในส่วนนี้กันสักนิด
น่าสนใจที่วอลแตร์มีชื่อเสียง 2 ระยะ ได้แก่ วอลแตร์นักเขียน และ
วอลแตร์นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน (ซึ่งเป็นคำที่มาในภายหลังสมัยของเขา)
ในระยะที่สองนี่เองที่ชีวิตของเขาสะท้อนให้เห็นว่า
ปัญหาความไม่ยุติธรรมในสังคมหรือกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม
เป็นเงื่อนไขหลักที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงถอนรากถอนโคนอย่างที่เรียกว่าปฏิวัติได้
ก่อนหน้านี้ระบบชนชั้นก็เกิดขึ้นมานานและเป็นที่ยอมรับ
เหล่าไพร่ก็กระสันจะเป็นชนชั้นนำ
ด้วยยศถาบรรดาศักดิ์และสถานภาพที่หยิบยื่นให้โดยคนข้างบน
จนไม่เห็นว่าเป็นปัญหาหรืออยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ฐานะทางเศรษฐกิจที่ลักลั่นก็ดูเหมือนจะรู้สึกเฉยเมยกัน
ไม่เห็นเป็นเหตุให้ต้องต่อสู้แย่งชิงอะไร
เหมือนจะชี้ว่าความไม่ยุติธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมไม่เป็นเงื่อนไขที่รุนแรงเพียงพอต่อการปฏิวัติ
หรือแรงพอแต่ต้องใช้เวลานานเกินไปที่จะมองเห็น
ทั้งหมดนี้จะแพ้เงื่อนไขสำคัญที่นำวอลแตร์ไปจุดไฟการปฏิวัติในฝรั่งเศส
นั่นคือความอยุติธรรมทางกฎหมาย พูดง่ายๆ ว่าตุลาการภิวัตน์นี่แหละ
ทำให้มวลชนเกิดความเร่าร้อน โกรธเคือง และไม่อยากรักษาสถานภาพเดิม (status
quo)
วรรณกรรมวอลแตร์ที่ชื่อ “Candid of the Optimist” หรือเรียกกันแพร่หลายว่า “Candide” ใครจะเริ่มอ่านวอลแตร์ก็ขอแนะนำเล่มนี้
เพราะวอลแตร์เขียนชิ้นนี้ออกมาตอบโต้งานของลิปนิตส์ที่ว่าด้วยการมองโลกในแง่ดี
เขาโต้ว่าการมองโลกในแง่ดีเกินไปเพาะสันดานตั้งรับในหมู่มนุษย์ (passivity)
และไม่เร่งเร้าให้เกิดการปฏิรูปทางสังคมในเชิงรุก
วอลแตร์เรียบเรียงเล่มออกมาได้อย่างหมดจดงดงามขนาดทำให้ผู้อ่านรู้สึกละอายที่จะนั่งเป็นเบื้อหรือเฉยเมย
ทั้งที่บ้านเมืองและสังคมใกล้จะล่มสลาย
ซึ่งเป็นความรู้สึกที่คนไทยอีกส่วนหนึ่งน่าจะรู้สึกรู้สมอย่างนี้บ้าง
งานของวอลแตร์เล่มนี้มีคุณค่าตรงที่ทำให้ไม่เสียชาติเกิด
บางท่านอาจจะไม่รู้ว่า วอลแตร์เคยเขียนชมสยามประเทศไว้ไม่น้อย
คู่ไปกับจีนและญี่ปุ่น โดยระบุว่าเป็นสามสังคมนอกยุโรปที่มี “อารยธรรม” แต่กลับเล่นงานคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนาและบรรพบุรุษของศาสนายิวอย่างหนัก
ทำให้เขาสร้างศัตรูมากพอๆ กับสาวกและผู้ที่รับเชื่อทางปัญญาจากเขา
“วอลแตร์” ซึ่งไม่ใช่นามจริง แต่เป็นนามปากกาหนึ่งในร้อยกว่าชื่อของเขา
(148 นามปากกา ตามบันทึกของวิกิพีเดีย)
จึงเป็นผู้ที่เผยแพร่แนวคิดปฏิวัติด้วยการย้ำถึงสิทธิและเสรีภาพพลเมืองที่แตกออกเป็นเสรีภาพในหลายด้าน
และเผยแพร่ในขณะที่ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของระบอบการเมืองที่ขาดความก้าวหน้าและล้าหลังแบบเผด็จการยุคเก่า
แสดงว่าชนชั้นกลางและชนชั้นนำในทุกสังคมมีโอกาสร่วมปฏิวัติสังคมได้เหมือนกันถ้าต้องการ
อย่างวอลแตร์นี่เอง.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น